มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสถาบันวิจัยพลังงาน ปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี


วันที่ 21 ธันวาคม 2556

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมพิธีปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ โดยปล่อยช้าง พังวาสนาเพศเมีย อายุ 29 ปี จำนวน 1 ตัว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงห่วงใยถึงวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่าอันเป็นเหตุแห่งการสูญพันธุ์จึงทรงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาช้างไทยและเพื่อสนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ช้างไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงานรุ่นที่3 (คณะวพน.3) ของสถาบันวิทยาการพลังงาน จัดพิธีการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา สำหรับการปล่อยช้างคืนสู่ป่า โครงการคืนช้างสู่ป่าสนองตาม พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้เริ่มปล่อยช้างเข้าสู่พื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ส่งผลให้ขณะนี้มีจำนวนช้างรวม 29 ตัว อยู่ในช่วงอายุ 29 วันถึง 40 ปี เป็นเพศเมีย จำนวน 20 ตัว เพศผู้ 9 ตัว และมี 3 ตัวในจำนวนนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยตัวแรกเป็นช้างพังอายุ 1 ปี 9 เดือน ตัวที่สองเป็นช้างพลายอายุ 20 เดือนและตัวที่สามเป็นช้างพังอายุ 29 วัน โดยทั้งหมดมีสุขภาพแข็งแรง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้ตามปกติ ทั้งนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 มีพื้นที่จำนวน 96,875 ไร่ มีสภาพเป็นพื้นที่ราบสลับกับเขาสูงชัน จาการสำรวจพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา พบสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก ปลา แมลง รวมชนิดสัตว์มากกว่า 230 ชนิด